หมูตัวเมียที่ไม่ได้รับการผสมพันธุ์ หรือผสมไม่ได้ผล จะกลับเป็นสัดอีกระหว่างทุกๆ ๑๘-๒๔ วัน หรือโดยเฉลี่ยประมาณ ๒๑ วัน แต่ถ้าผสมได้ผล ก็จะไม่กลับเป็นสัดอีกเลย ตลอดการอุ้มท้อง เมื่อหมูตัวเมียได้รับการผสมแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องให้อาหารเพิ่มมากขึ้นอีก การเลี้ยงดูในช่วงนี้ควรปฏิบัติดังนี้
๑. การจัดคอกสำหรับแม่หมู
ระยะที่แม่หมูอุ้มท้องควรแยกมาเลี้ยงในคอกขังเดี่ยว เพราะนอกจากจะควบคุมการให้อาหารได้แล้ว ยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการทะเลาะวิวาทกับหมูตัวอื่น ซึ่งอาจทำให้แม่หมูแท้งลูกได้
๒. การให้อาหาร
๒.๑ ช่วงอุ้มท้องระยะต้น ตั้งแต่เริ่มผสมพันธุ์จนถึงอุ้มท้องได้ ๘๔ วัน ในช่วงนี้ไม่จำเป็นต้องให้อาหารมากนัก เพราะลูกในท้องเติบโตช้ามาก ควรให้กินประมาณตัวละ ๑.๕-๑.๘ กิโลกรัมต่อวัน ก็พอเพียงแล้ว สำหรับหมูพันธุ์พื้นเมือง ก็ต้องลดลงตามส่วน
๒.๒ ช่วงอุ้มท้องระยะหลัง (อุ้มท้อง ๘๔-๑๐๔ วัน) ในช่วงนี้ลูกหมูในท้อง มีอัตราการเจริญเติบโตสูงมาก ต้องการอาหารมาก จำเป็นต้องเพิ่มอาหารให้แก่แม่หมู เป็นวันละ ๒.๕-๓ กิโลกรัมต่อวัน (ประมาณร้อยละ ๒.๕ ของ น้ำหนักตัว)
๓. ตรวจการตั้งท้อง
หลังจากวันผสมพันธุ์ประมาณ ๒๑ วัน และ ๔๒ วัน ควรตรวจดูการเป็นสัดของหมูตัวเมีย หากหมูไม่แสดงอาการเป็นสัด ก็อาจกล่าวได้ว่า หมูผสมติดและตั้งท้อง แต่ถ้าหมูแสดงอาการเป็นสัดอีก ก็ให้ผสมพันธุ์หมูตัวนั้นใหม่ หมูตัวใดผสมแล้ว ยังไม่ตั้งท้องติดต่อกัน ๓ ครั้ง ให้คัดหมูตัวนั้นออกจากฝูง เพื่อจำหน่ายต่อไป
๔. อุณหภูมิ
ภายในโรงเรือนควรรักษาอุณหภูมิให้ต่ำมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เนื่องจากประเทศเราเป็นประเทศเมืองร้อน และจากผลการวิจัยปรากฏว่า หากให้หมูอยู่ในที่ร้อนอบอ้าวติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้หมูให้ลูกน้อยตัว นอกจากนี้ความต้องการผสมพันธุ์ และจำนวนเชื้ออสุจิของพ่อหมู ก็ลดลงไปด้วย อุณหภูมิที่เหมาะสำหรับหมูในช่วงนี้คือ ระหว่าง ๑๖-๑๙ องศาเซลเซียส
การเลี้ยงดูแม่หมูก่อนคลอด ระหว่างคลอด และระหว่างการให้นม
ช่วงระยะก่อนคลอด ระหว่างคลอด และ ระยะ ๒-๓ วัน ของการให้นม เป็นช่วงที่มีความสำคัญมากช่วงหนึ่งของการเลี้ยงดูหมู ถ้าการเลี้ยงดูในระหว่างช่วงนี้ไม่ดีพอ ก็จะสูญเสียลูกหมูไป โดยไม่จำเป็น
การเลี้ยงดูแม่หมูก่อนคลอด
ควรปฏิบัติ ดังนี้
๑. การทำความสะอาดคอกคลอด ควรทำความสะอาดไว้ล่วงหน้าให้เรียบร้อย ก่อนที่จะนำแม่หมูเข้าคอกคลอด ประมาณหนึ่งสัปดาห์ หรือนานกว่านี้ก็ได้ เพื่อลดโอกาสที่โรคและพยาธิจะ เกิดขึ้นให้มีได้น้อยที่สุด ซึ่งโรคและพยาธินี้จะ ติดต่อถึงลูกได้มาก เนื่องจากลูกหมูพยายามหา ทางไปกินนมจากแม่ภายหลังที่คลอดได้ไม่กี่นาที ลูกหมูจึงอาจติดโรคและพยาธิเหล่านี้ได้จากคอก ที่สกปรก การทำความสะอาดคอกคลอด จะใช้ผงซักฟอก หรือโซดาไฟล้างก็ได้ แล้วใช้น้ำสะอาดล้างให้ทั่วอีกครั้ง เมื่อคอกแห้งแล้ว จึงใช้ยาฆ่าเชื้อโรคชนิดใดชนิดหนึ่งผสมน้ำ เจือจางตามคำแนะนำ แล้วพ่นให้ทั่วบริเวณคอก
๒. การถ่ายพยาธิแม่หมู ก่อนถึงกำหนดคลอด ๗-๑๔ วัน ควรถ่ายพยาธิแม่หมู โดยเฉพาะหมูที่เลี้ยงแบบปล่อยลงแปลง หรือเลี้ยงในคอกที่มีพื้นเป็นดิน วิธีการใช้ยาถ่ายพยาธิให้ดูจากฉลากที่ติดมากับยาชนิดนั้นๆ
๓. การทำความสะอาดแม่หมู ปกติทั้งแม่หมู และหมูสาว จะอุ้มท้องนานประมาณ ๑๑๔ วัน เมื่ออุ้มท้องได้ ๑๐๙ วัน ควรย้ายหมูเหล่านั้นไป ยังคอกคลอด อาบน้ำด้วยสบู่ ใช้แปรงที่มีขนแข็ง ถูให้ทั่วบริเวณร่างกาย โดยเฉพาะตามพื้นท้อง ลำตัว และบริเวณเต้านม วิธีนี้จะกำจัดไข่พยาธิ และสิ่งสกปรกที่ติดมากับตัวหมูออกไป
๔. การให้อาหารและน้ำแม่หมู อาหารที่ให้แม่หมูในช่วงก่อนคลอดนี้ ควรจะเป็นอาหาร ช่วยระบายอย่างอ่อนๆ ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดอาการท้องผูกของแม่หมู ช่วงนี้ผู้เลี้ยงอาจเพิ่มอาหารที่มีเยื่อใยสูงลงในอาหารแม่หมูได้ รำข้าว หรือจะให้หญ้าสด เช่น หญ้าขน ก็ได้
การดูแลแม่หมูระหว่างคลอด
ควรปฏิบัติดังนี้
๑. การจัดเตรียมวัดสุรองพื้นสำหรับลูกหมู ควรจัดเตรียมไว้ล่วงหน้า ก่อนแม่หมูจะคลอดหนึ่งวัน หรือสองวัน วัดสุที่รองพื้นที่ควรจัดเตรียมไว้ ได้แก่ ฟางข้าว หญ้าแห้ง หรือกระสอบที่สะอาดและแห้ง วัสดุรองพื้นช่วยป้องกันขาและเต้านมของลูกหมู ที่เพิ่งคลอด ไม่ให้ได้รับอันตรายจากพื้นคอกที่หยาบ แข็ง และยังช่วยให้ความอบอุ่นแก่ลูกหมูอีกด้วย
๒. การจัดเตรียมเครื่องมือเครื่องใช้ในการปฐมพยาบาลลูกหมูที่คลอดออกมา เครื่องมือเครื่องใช้ที่ต้องเตรียมไว้ระหว่างหมูกำลังคลอด มีดังนี้
๒.๑ ผ้าแห้งที่สะอาด ๒-๓ ผืน สำหรับเช็ดตัวลูกหมูที่คลอดออกมาใหม่ๆ
๒.๒ คีม สำหรับตัดเขี้ยวและหางลูกหมู
๒.๓ ด้ายผูกสายสะดือ
๓. การให้อาหารแม่หมู ถ้าเป็นไปได้ช่วงก่อนคลอด ๑๒ ชั่วโมง และหลังคลอดอีก ๑๒ ชั่วโมง ไม่ต้องให้อาหารเลย นอกจากน้ำสะอาดอย่างเดียว
๔. การช่วยเหลือลูกหมู เมื่อคลอด ลูกหมูเมื่อคลอดออกมาใหม่ๆ ควรจะช่วยทำความสะอาด เช็ดร่างกายลูกหมูให้แห้ง ด้วยผ้าแห้งที่สะอาด เอาเยื่อบางๆ ที่ห่อหุ้มตัวลูกหมูออก โดยเฉพาะเยื่อที่หุ้มส่วนจมูกและปาก ควรเช็ด และล้วงเสมหะออกจากปากเสียก่อนโดยเร็ว หลังคลอดไม่ควรขังลูกหมูไว้ ควรปล่อยให้กินนมได้เลย น้ำนมแม่เมื่อแรกคลอด (colostrum) นี้ มีประโยชน์ต่อลูกหมูมาก และจะมีอยู่เพียง ๒-๓ วันหลังคลอดเท่านั้น
การเลี้ยงดูแม่หมูระหว่างการให้นม
ควร ปฏิบัติดังนี้
๑. ควรให้อาหารเดิมแก่แม่หมู (อาหารที่ให้แม่หมูตอนใกล้คลอด) ภายหลังคลอดต่อไปอีก ประมาณ ๓ – ๕ วัน จึงค่อยเปลี่ยนเป็นอาหารสูตรใหม่
๒. อาหารสูตรใหม่ที่ให้แก่แม่หมูระหว่างการให้น้ำนม ควรมีโปรตีน และพลังงาน ไม่น้อยกว่าในอาหารสำหรับแม่หมูระหว่างการอุ้มท้อง ทั้งนี้เพื่อช่วยในการผลิตน้ำนม
๓. การให้อาหารควรเริ่มให้แต่น้อย วันถัดไปค่อยเพิ่มจำนวนอาหารที่ให้กินมากขึ้นไปเรื่อยๆ เท่าที่แม่หมูจะสามารถกินได้ เช่น แม่หมูมีลูก ๑๐ ตัว อาหารที่ให้แม่หมูกินเต็มที่ประมาณ ๕ กิโลกรัม
๔. การเพิ่มอาหารให้แม่หมูกินเร็วเกินไป อาจทำให้ลูกหมูเกิดขี้ขาวได้ ถ้าเกิดกรณีเช่นนี้ผู้เลี้ยงควรลดจำนวนอาหารที่ให้หมูลง
การเลี้ยงและการดูแลลูกหมูหลังคลอดไปจนถึงหย่านม
การเลี้ยง และการดูแลลูกหมู ตั้งแต่หลังคลอด ไปจนถึงหย่านม นับได้ว่า เป็นช่วงที่มีความยุ่งยากมากกว่าช่วงอื่นๆ เป็นช่วงที่มีการสูญเสียลูกหมูมากที่สุด โดยเฉลี่ยประมาณ ๒ ตัวต่อครอก ซึ่งอาจเกิดเนื่องจากถูกแม่ทับตาย ท้องร่วงอย่างแรง อดอาหาร โลหิตจาง และเสียเลือดมากทางสายสะดือเมื่อคลอด อย่างไรก็ตามการสูญเสียลูกหมูในช่วงนี้ ส่วนใหญ่เนื่องมาจากการดูแลไม่ดี มากกว่าสาเหตุอื่นๆ ดังนั้น เพื่อลดการสูญเสีย ลูกหมูในช่วงนี้ ผู้เลี้ยงควรเตรียมการดูแลลูกหมู ดังนี้
๑. การให้ความอบอุ่น
หมูที่มีอายุต่ำกว่า ๓ วัน กลไกที่ควบคุมอุณหภูมิภายในร่างกายยังไม่ทำงาน จึงไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับความผันแปรของอุณหภูมิภายนอกได้ ลูกหมูแรกเกิดที่ถูกความหนาวเย็นมากๆ หรือเป็นเวลานานๆ อุณหภูมิของร่างกายจะลดลง จะเป็นผลให้ลูกหมูตัวนั้นตายได้
๒. การป้องกันลมโกรก
ไม่ควรปล่อยให้ลูกหมูถูกลมโกรก เช่น ให้ลูกหมูอยู่ในคอกที่โปร่งมาก หรือมีพื้นเป็นไม้ระแนง เพราะจะทำให้ลูกหมูเจ็บป่วยได้ง่าย บริเวณสำหรับลูกหมูแรกคลอดหลับนอน ควรมีที่กำบังลมไว้ประมาณ ๓-๔ วัน จะช่วยให้ลูกหมูไม่ถูกลมโกรกมากนัก อย่างไรก็ตาม คอกลูกหมูก็ไม่ควรปิดทึบ เพราะจะทำให้อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เวลาคอกเปียกชื้น จะแห้งยาก ทำให้เกิดเชื้อโรค ลูกหมูจะเจ็บป่วยได้ง่ายเช่นกัน
๓. การรักษาความสะอาดคอก
คอกที่ ใช้เลี้ยงลูกหมูควรทำความสะอาดอยู่เป็นประจำ พื้นคอกตลอดจนบริเวณที่ลูกหมูนอน ควรจะแห้งและสะอาดอยู่เสมอ ถ้าจำเป็นที่จะต้องล้างทำความสะอาด เนื่องจากคอกสกปรก ควรขังลูกหมูเอาไว้ก่อน อย่าปล่อยออกมาให้ตัวเปียกน้ำ ลูกหมูอาจจะหนาวสั่น และเจ็บป่วยได้ เมื่อเห็นว่า คอกแห้งพอสมควรดีแล้ว จึงปล่อยลูกหมูตามเดิม
๔. การตัดสายสะดือ
ก่อนอื่นควรมัดสายสะดือ เพื่อป้องกันเลือดออกหลังตัด ควรตัดให้เหลือสายสะดือยาวประมาณ ๓-๔ เซนติเมตร เมื่อลูกหมูยืนขึ้นสายสะดือจะได้ไม่ติดพื้นคอก จากนั้นเช็ดแผลที่ตัดแล้วด้วยทิงเจอร์ไอโอดีน สายสะดือเป็นส่วนสำคัญ ที่เชื้อโรคจะเข้าสู่ตัวลูกหมูได้ การเจ็บป่วย เช่น ลูกหมูขาเจ็บหรือตาย อาจจะมาจากการละเลยการปฏิบัติดังกล่าว
๕. การตัดฟันและการตัดหาง
ควรตัดภายหลังที่ลูกหมูคลอดได้ไม่เกิน ๒๔ ชั่วโมง การตัดฟันและหางนี้ ควรทำพร้อมกัน ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการจับต้องลูกหมูหลายๆ ครั้ง
- การตัดฟัน ลูกหมูแรกคลอดมีฟันที่แหลมคมอยู่ ๔ คู่ ๒ คู่อยู่ที่ขากรรไกรบน อีก ๒ คู่อยู่ที่ขากรรไกรล่าง ฟัน ๔ คู่นี้ไม่มีประโยชนต่อลูกหมู แต่จะทำให้ระคายเคืองต่อเต้านมแม่ ขณะที่ลูกหมูดูดนม จึงควรตัดให้เรียบสั้นหลังคลอด การตัดต้องระมัดระวังอย่าให้ฐานของฟันเสีย หรือเหลือรอยขรุขระแหลมคมไว้ หรือเป็นสาเหตุที่เป็นอันตรายต่อเหงือก (การตัดฟันลูกหมู โดยไม่ระมัดระวัง ก็จะทำให้เหงือกได้รับอันตราย จากเครื่องมือที่ใช้ได้ เช่น ไปตัดโดนเหงือก เครื่องมือที่ใช้ตัดฟัน ถ้าไม่คมก็จะตัดฟันได้ไม่เรียบ ฐานฟันอาจเสีย และทำให้เหงือกได้รับอันตราย บางครั้งก็เหลือรอยขรุขระแหลมคมไว้เหมือนขวดแก้วแตก ฟันเช่นนี้ เมื่อไปกัดหัวนมแม่ จะคมยิ่งกว่าฟันธรรมดาที่ไม่ได้ถูกตัด)
- การตัดหาง ปัญหาเรื่องลูกหมูกัดหางกัน มักจะเนื่องมาจากการเลี้ยงหมูแบบขังคอก และเลี้ยงไว้คอกละจำนวนมาก ผู้เลี้ยงอาจจะตัดหางลูกหมูทิ้งเสียตั้งแต่ยังเล็กก็ได้ ควรตัดให้เหลือ เพียง ๑/๔ นิ้ว ไม่ควรทำกับหมูที่โตแล้ว ในกรณีที่เกิดปัญหาการกัดหางกัน ก็สามารถแก้ไขได้โดยการผูกโซ่หรือยาง ห้อยไว้ในคอก เพื่อให้หมูได้กัดเล่น
๖. การป้องกันโรคโลหิตจาง
โรคโลหิตจางในลูกหมูมักเกิดจากการขาดธาตุเหล็ก ทั้งนี้ เพราะลูกหมูมีความต้องการธาตุเหล็กมากเกินกว่าที่ได้รับจากน้ำนมแม่ เนื่องจากลูกหมูมีการเจริญเติบโตที่รวดเร็ว และธาตุเหล็กที่เก็บสำรองในตัวลูกหมูที่เกิดใหม่ มีอยู่จำนวนน้อย เพื่อป้องกันโรคนี้ ผู้เลี้ยงควรฉีดธาตุเหล็กให้ลูกหมูประมาณ ๒ ครั้ง ครั้งแรกเมื่อลูกหมูอายุได้ ๓ วัน ครั้งถัดไปเมื่อลูกหมูมีอายุได้ ๒-๓ สัปดาห์
๗. การตอนลูกหมูตัวผู้
ลูกหมูตัวผู้ที่ไม่เก็บไว้ทำพันธุ์จะตอนเมื่ออายุเท่าใดก็ได้ แต่ที่เหมาะคือ เมื่ออายุได้ ๒ หรือ ๓ สัปดาห์ ในช่วงนี้อันตรายจากการตอนมีน้อยกว่าช่วงที่ลูกหมูโตแล้ว เพราะจับลูกหมูได้ง่ายกว่า และแผลก็จะหายเร็วกว่าด้วย
๘. การหัดให้กินอาหารแห้ง
ก่อนลูกหมูหย่านมอย่างสมบูรณ์ เมื่อลูกหมูมีอายุได้ ๑ หรือ ๒ สัปดาห์ ควรหัดให้กินอาหารบ้าง ลูกหมูที่เคยหัดให้กินอาหารตั้งแต่เล็ก โดยทั่วไปเมื่อหย่านม จะเรียนรู้การกินอาหารได้เร็วกว่าพวกที่ไม่เคยหัดเลย
การเลี้ยงดูลูกหมูหลังหย่านม
การหย่านมลูกหมูจะเร็วหรือช้านั้น นอกจากจะขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของลูกหมูแล้ว ยังขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้เลี้ยง และคุณภาพของอาหารที่ใช้เลี้ยงลูกหมูด้วย ผู้เลี้ยงหมูในบ้านเรานิยมหย่านมลูกหมูที่มีอายุระหว่าง ๓-๖ สัปดาห์ ลูกหมูที่หย่านมเมื่ออายุยังน้อย หรือน้ำหนักตัวน้อย มักจะอ่อนแอ และถ้าการเลี้ยงดูไม่ดีพอ อาจทำให้ลูกหมูแคระแกร็น หรืออาจถึงตายได้ การเลี้ยงดูลูกหมูในระยะนี้จึงควรปฏิบัติดังนี้
๑. การหย่านมลูกหมู
ให้ถือน้ำหนักเป็นเกณฑ์ ลูกหมูควรมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า ๕ กิโลกรัม เมื่อหย่านม และไม่ควรขังลูกหมูที่มีขนาดและน้ำหนักไล่เลี่ยกันเกินกว่า ๒๐ ตัวไว้ในคอกเดียวกัน (ขึ้นอยู่กับขนาดของคอกด้วย) เนื่องจากคอกจะสกปรกมาก และบางตัวก็กินอาหารไม่ทันตัวอื่นๆ
๒. การรักษาความสะอาด
เนื่องจากลูกหมูในช่วงนี้เป็นโรคได้ง่าย ความสะอาดจึงเป็น สิ่งสำคัญที่ควรระวังให้มาก รางอาหาร รางน้ำ ตลอดจนคอกหมูต้องสะอาดอยู่เสมอ พื้นคอกไม่ควรปล่อยให้เปียกแฉะ ดังนั้น คอกต้องมีการถ่ายเทอากาศได้ดี แต่ต้องไม่โกรกตัวลูกหมูมากนัก
๓. การให้อาหารและน้ำ
ควรให้อาหาร ลูกหมูบ่อยๆ ครั้งละน้อยๆ จะช่วยให้ลูกหมูกินอาหารได้มากขึ้น อาหารที่เปียก เหม็นอับ ควรทิ้งไป น้ำสะอาดต้องมีให้ลูกหมูได้กินตลอดเวลา การขาดน้ำ จะทำให้ลูกหมูกินอาหารน้อยลง หรือไม่กินอาหารเลย
๔. การถ่ายพยาธิ
หลังจากลูกหมูหย่านมได้ราว ๒-๓ สัปดาห์ ควรให้ลูกหมูกินยาถ่ายพยาธิ ลูกหมูที่พบว่า มีพยาธิควรถ่ายซ้ำอีกครั้ง
๕. การฉีดวัคซีน
หลังจากที่ลูกหมูหย่านมแล้ว ราว ๓-๔ สัปดาห์ขึ้นไป ผู้เลี้ยงสามารถฉีดวัคซีนให้กับลูกหมูได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของลูกหมู และควรฉีดวัคซีนกับลูกหมูที่สมบูรณ์เท่านั้น ลูกหมูหลังฉีดวัคซีนแล้ว อาจมีอาการไข้ได้ จึงไม่ควรเอาน้ำรดตัวลูกหมู
การตอนไม่ควรทำในช่วงเดียวกับการฉีดวัคซีน ควรตอนก่อนการฉีดวัคซีนอย่างน้อย ไม่ต่ำกว่า ๑๐ วัน หรือหลังการฉีดวัคซีนประมาณสัก ๑ เดือน
การเลี้ยงและการดูแลหมูรุ่นและขุนส่งตลาด
การเลี้ยงดูหมูระยะนี้ มีความยุ่งยากน้อยกว่า การเลี้ยงดูหมูระยะที่ยังไม่หย่านม หลังจากหย่านมใหม่ๆ หมูในช่วงนี้จะเจริญเติบโตดี ทั้งหมูที่เลี้ยงอยู่ในทุ่ง และบนคอกคอนกรีตที่มีการสุขาภิบาล การควบคุมโรคและพยาธิ ตลอดจนการให้อาหารที่ถูกต้อง การเลี้ยง และการจัดการดูแลหมูระยะนี้ ควรปฏิบัติดังนี้
๑. การจัดคอกเลี้ยง
๑.๑ การจัดคอกสำหรับหมูขุนขาย ควรจัดเอาหมูที่มีขนาดและเพศเดียวกัน ขังเลี้ยงไว้ในคอกเดียวกัน เพื่อช่วยให้หมูเติบโตมีขนาดไล่เลี่ยกัน และไม่เกิดปัญหาแย่งอาการกันกินขึ้นในภายหลัง เนื่องจากการเจริญเติบโตไม่เท่ากันของหมูเพศผู้ และเพศเมีย หมูเพศผู้ที่ตอน มักเจริญเติบโตเร็วกว่าหมูเพศเมีย แต่หมูเพศเมียมีแนวโน้มการใช้อาหาร ที่มีโปรตีนสูงได้ดีกว่า และยังให้เนื้อแดง และมีลำตัวยาวกว่าหมูเพศผู้ที่ตอนด้วย
๑.๒ การจัดคอกสำหรับหมูพันธุ์ หมูที่จะ เลี้ยงไว้เป็นพ่อพันธุ์ และแม่พันธุ์ ในช่วงแรก ไม่ควรเลี้ยงแยกเพศกันอย่างเด็ดขาด กล่าวกันว่า การเป็นหนุ่มเป็นสาวช้า การไม่แสดงการเป็นสัดของหมูตัวเมีย และการไม่ยอมผสมพันธุ์ของหมูตัวผู้นั้น เป็นผลจากการมีประสบการณ์ก่อนเป็นหนุ่มเป็นสาวไม่เพียงพอ พ่อหมูสามารถเรียนรู้ในเรื่องเหล่านี้ได้ดีที่สุด ในช่วงอายุระหว่าง ๔-๘ เดือน
เมื่อหมูเริ่มผสมพันธุ์ได้ ควรแยกออกมาเลี้ยงขังเดี่ยว และจำกัดอาหารไป จนกระทั่งหมูมีน้ำหนัก ๑๑๕ กิโลกรัม ทั้งตัวผู้ และตัวเมีย
๒. การจัดเตรียมรางอาหาร
ควรจัดให้มีเพียงพอกับจำนวนหมู รางอาหารชนิดอัตโนมัติ ช่องอาหารช่องหนึ่งๆ ควรจัดไว้สำหรับหมูไม่เกิน ๓-๔ ตัว มิฉะนั้นจะมีผลต่อการเจริญเติบโตของหมู
๓. การจัดเตรียมน้ำดื่ม
ควรมีน้ำดื่มสะอาดไว้ในที่ที่เหมาะสม ไม่ควรจัดไว้ในที่ที่หมูตัวอื่นกีดขวางได้ง่าย ปกติหมูตัวหนึ่งจะกินน้ำประมาณสองเท่าของน้ำหนักของอาหารที่กินเข้าไป
๔. อุณหภูมิ
อุณหภูมิที่เหมาะจะช่วยให้การเจริญเติบโต และประสิทธิภาพการใช้อาหารของหมูดีขึ้น คือ อุณหภูมิประมาณ ๒๑ องศาเซลเซียส หากอากาศร้อนเกินไป หมูจะกินอาหารน้อยลง และเติบโตช้า
๕. การถ่ายเทอากาศ
อากาศภายในคอก ควรมีการถ่ายเท หรือระบายได้ดี โรงเรือนที่อับ อากาศจะเกิดก๊าซพิษสะสม ซึ่งมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของหมู และก่อให้เกิดสิ่งผิดปกติกับหมูได้ เช่น เกิดมีการกัดหางกันขึ้น เป็นต้น