การเพาะเลี้ยงชายฝั่ง
 
           การประมงในอดีตนับตั้งแต่เริ่มมีการจัดตั้งกรมรักษาสัตว์น้ำขึ้นในปี 2469 จนถึงช่วงก่อนที่จะมีการจัดทำแบบพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติขึ้นในปี 2504 ส่วนใหญ่เน้นไปในด้านการประมงน้ำจืด ทั้งยังมีจุดประสงค์ที่จะบำรุงรักษาพันธุ์สัตว์น้ำ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในช่วงนี้ยังไม่มีบทบาทสำคัญในทางเศรษฐกิจ
 
           ปี 2492 มีการจัดตั้งสถานีประมงน้ำกร่อยขึ้นที่ ตำบลคลองวาฬ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ การพัฒนาการเพาะเลี้ยงเริ่มเด่นชัดขึ้นในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1 และ 2 ช่วงปี 2504-2514 ได้มีการศึกษาชีวประวัติของสัตว์น้ำกร่อยหลายชนิด มีการรวบรวมลูกพันธุ์ปลาทะเลมาทดลองเลี้ยงและส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงปลาใน กระชัง ทำให้เกษตรกรมีอาชีพและรายได้เพิ่มมากขึ้น ต่อมากรมประมงได้ทดลองศึกษา ค้นคว้าเทคนิค และวิธีการใหม่ๆ รวมทั้งสำรวจแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเพื่อขยายขอบเขตการเพาะเลี้ยง ปรับปรุงแหล่งน้ำและพันธุ์สัตว์น้ำ ให้มีการใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมถาวรตลอดไป โดยเฉพาะบริเวณชายฝั่งแถบทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดีย
 
           ในช่วงปี 2520-2529 การพัฒนาประมงทะเลมีความก้าวหน้าจนทรัพยากรสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติลดน้อยลง กรมประมงจึงกำหนดนโยบายที่จะเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำจากการเพาะเลี้ยงให้มากขึ้น ปัจจุบันพื้นที่บริเวณชายฝั่งที่คาดว่ามีศักยภาพในการประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีประมาณกว่า 6 ล้านไร่  การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่ชายฝั่งหรือน้ำกร่อยส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยงเพื่อยังชีพหรือตามวิถีพื้นบ้าน ลักษณะการเลี้ยงมีหลากหลายรูปแบบตามแนวคิดของแต่ละถิ่น เช่น ใช้ไม้ไผ่ปัก กั้นคอก เลี้ยงหอยชนิดต่างๆ จนปัจจุบันมีการพัฒนามาใช้การเลี้ยงแบบหนาแน่นในบ่อดิน (Intensive Culture Technologies) จนประสบความสำเร็จมากในด้านรายได้ ซึ่งเน้นการผลิตปริมาณมากเพื่อการส่งออกเป็นหลัก ชนิดสัตว์น้ำที่มีการเพาะเลี้ยงกันมากได้แก่ กุ้งกุลาดำ กุ้งขาว หอยแครง หอยแมลงภู่ หอยนางรม และปูทะเล ส่วนการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเค็มอื่นๆ รวมทั้งสาหร่ายในประเทศไทยยังมีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีการผลิต แต่ก็มีศักยภาพที่จะพัฒนาได้ต่อไป
 
รูปที่ 4 ปริมาณสัตว์น้ำเค็ม จำแนกตามวิธีทำการประมง พ.ศ. 2532 -2551
ที่มา : กรมประมง. 2551. สถิติการประมงแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 เอกสารฉบับที่ 12/2553. ศูนย์สารสนเทศ กรมประมง
           ปัจจุบัน การเพาะเลี้ยงมีความสำคัญสำหรับประเทศไทยเนื่องจากเป็นแหล่งผลิตสัตว์น้ำทดแทนสัตว์น้ำทะเลที่มีแนวโน้มลดลง ที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีได้อย่างต่อเนื่องและสามารถตรวจสอบระบบการผลิตย้อนกลับได้ ซึ่งจะทำให้ผลผลิตสัตว์น้ำเป็นสินค้าส่งออกที่มีประสิทธิภาพเป็นที่ยอมรับของตลาดต่างประเทศ ชนิดสัตว์น้ำที่เลี้ยงสามารถเลือกได้ตามที่ตลาดมีความต้องการ ทำให้ขายได้ราคา มีส่วนช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพราะสามารถป้อนผลผลิตเข้าสู่ระบบได้อย่างต่อเนื่องและคงที่  เป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับชุมชนชายฝั่งและธุรกิจเกษตร อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยจำกัดที่ทำให้การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทยยังไม่พัฒนาเท่าที่ควรได้แก่ ด้านต้นทุนการผลิต ด้านปัญหาสิ่งแวดล้อม และด้านเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม ซึ่งที่ผ่านมามีจำกัดอยู่เพียงบางชนิดของสัตว์น้ำเช่น กุ้ง เท่านั้น
            สถานการณ์และปัญหาในปัจจุบันของการเพาะเลี้ยง
 
            ปี 2547 ประเทศไทยมีผลผลิตสัตว์น้ำจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอยู่ในอันดับ 4 ของโลก ปริมาณผลผลิตสัตว์น้ำรวมทั้งสิ้น 1,172 พันตัน คิดเป็นมูลค่า 64.5 ล้านบาท[7] (1.6 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ (US$))[8] กว่าครึ่งหนึ่งของผลผลิตสัตว์น้ำมาจากการเพาะเลี้ยงชายฝั่ง จำนวน 736.3 พันตัน คิดเป็นมูลค่า 49,250.1 ล้านบาท โดยกุ้งเป็นสัตว์น้ำที่มีการเลี้ยงและทำผลผลิตได้มากที่สุดคิดเป็น 49 เปอร์เซ็นต์ จากปริมาณสัตว์น้ำทั้งหมดที่มีการเพาะเลี้ยง  ผลผลิตสัตว์น้ำที่ได้มีการใช้ประโยชน์ในการบริโภคสด 25 เปอร์เซ็นต์ ทำเป็นสัตว์น้ำปรุงแต่งเพื่อการส่งออก 24 เปอร์เซ็นต์ เป็นอาหารสัตว์หรือปลาเป็ด 22.7 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือแปรรูปเป็นอาหารกระป๋อง หมัก ดอง ตากแห้ง ทำเค็ม นึ่ง ย่าง รมควัน และอื่นๆ ตามลำดับ
            ประเทศไทยมีปริมาณและมูลค่าการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำมากว่าการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำจากต่างประเทศ มีดุลการค้าจากการส่งออกสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นทุกปี (รูปที่ 5) ในปี 2551 ประเทศไทยสามารถส่งออกสินค้าสัตว์น้ำ 228,217.6 ล้านบาท มีการนำเข้าสัตว์น้ำ 81,129 ล้านบาท มีดุลการค้า 147,089.0 ล้านบาท  อย่างไรก็ตามส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกก็มาจากการแปรรูปสัตว์น้ำที่นำเข้ามาด้วยเช่นกัน
 
รูปที่ 5 ดุลการค้าสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำปี 2532 – 2551
ที่มา : กรมประมง. 2551. สถิติการประมงแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 เอกสารฉบับที่ 12/2553. ศูนย์สารสนเทศ กรมประมง
             พื้นที่การเพาะเลี้ยงชายฝั่งตามสถิติการประมงแห่งประเทศไทยปี 2546 มี 512,620 ไร่ จำนวนครัวเรือนที่ทำอาชีพเพาะเลี้ยงชายฝั่งเพียงอย่างเดียวประมาณ 35,711 ครัวเรือน (ปี 2551)  ผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงมีปริมาณเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่าในรอบ 20 ปี ที่ผ่านมา (รูปที่ 6) โดยในปี 2527 มีผลผลิตสัตว์น้ำจากการเพาะเลี้ยงชายฝั่ง 61.5 พันตัน และ 20 ปี ต่อมา ในปี 2547 มีผลผลิตสัตว์น้ำจากการเพาะเลี้ยงชายฝั่งเท่ากับ 736.3 พันตัน ในขณะที่ผลผลิตประมงโดยการจับมีปริมาณเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.4 เท่านั้นในช่วงเวลาดังกล่าว
             ชนิดสัตว์น้ไที่นิยมเพาะเลี้ยงได้แก่ กุ้ง ปลาทะเล และหอย เนื่องจากเป็นสัตว์น้ำที่ค่อนข้างมีราคาและเป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งกุ้งทะเล (ส่วนใหญ๋เป็นกุ้งขาวแวนนาไม) เป็นสัตว์น้ำที่นิยมในการเพาะเลี้ยงและส่งออกมากที่สุดโดยเฉลี่ยร้อยละ 80-85 ของปริมาณสัตว์น้ำทั้งหมด ในปี 2551 มีผลผลิตกุ้งประมาณ 460,000 ตัน  ผลผลิตหอย (ส่วนใหญ๋เป็นหอยแมลงภู่) 382,920 ตัน  และผลผลิตจากปลาทะเล 20,350 ตัน
 
รูปที่ 6: ปริมาณและมูลค่าสัตว์เลี้ยงจากการเพาะเลี้ยงชายฝั่งปี 2522-2547
             ในระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศไทยยังพบปัญหาในหลายส่วน ได้แก่ ปัญหาด้านต้นทุนการผลิตที่สูง เนื่องจากระบบการเลี้ยงผูกขาดอยู่กับอาหารสำเร็จรูปซึ่งมีราคาแพงและค่าแรงงานสูง ในบางครั้งเกษตรกรยังขาดแหล่งเงินทุนหมุนเวียนในการขยายกิจการและดำเนินธุรกิจ ปัญหาเรื่องโรคระบาดก็ทำให้การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำบางชนิดยังไม่ประสบความสำเร็จ
             สำหรับพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแต่ละชนิดก็มีอยู่จำกัด โดยเฉพาะการเพาะเลี้ยงตามชายฝั่งยังทำได้ไม่เต็มศักยภาพ นอกจากนี้ยังมีปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อมบริเวณแหล่งเพาะเลี้ยงโดยเฉพาะเรื่อง น้ำเสีย โดยแหล่งกำเนิดมลพิษอาจมาจากโรงงานอุตสาหกรรมบริเวณใกล้เคียง หรือจากการปล่อยน้ำทิ้งของเรือประมง ชุมชน ทำให้มีการปนเปื้อนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช/สารพิษ เช่น โลหะหนักที่มากับน้ำ การเพาะเลี้ยงเกินขีดความสามารถในการรองรับของแหล่งน้ำ นอกจากนี้ในบางพื้นที่ยังประสบปัญหาปริมาณน้ำในการเพาะเลี้ยงไม่สม่ำเสมอ ในเขตพื้นที่น้ำเค็มก็ประสบปัญหาเรื่องความเค็มที่ไม่เหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเนื่องจากน้ำจืดลงมามากเกินไป อีกทั้งสภาพแวดล้อมที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ภัยธรรมชาติ ภัยแล้ง ความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมและทรัพยากร ที่ทำให้พื้นที่เพาะเลี้ยงและผลผลิตสัตว์น้ำเสียหาย
            ปัญหาด้านการตลาด เช่น การไม่สามารถรวบรวมผลผลิตได้เนื่องจากเกษตรกรแยกกันขาย ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตมีไม่เพียงพอต่อการแปรรูปเพื่อการส่งออก นอกจากนี้ มาตรฐานสินค้าจากประเทศผู้นำเข้ามีมากขึ้น ประเทศผู้ซื้อมีการตรวจสอบที่เข้มงวดมากขึ้นในเรื่องของคุณภาพสินค้า ทำให้สินค้าสัตว์น้ำที่จะส่งออกต้องมีใบรับรองปลอดโรค ในขณะที่ราคาสัตว์น้ำมีความผันผวนราคาสัตว์น้ำไม่จูงใจผู้ผลิต เกษตกรผู้ผลิตยังขาดอำนาจต่อรองทางการตลาด พ่อค้าคนกลางเป็นผู้กำหนดราคาและไม่มีการประกันราคา นอกจากนี้ยังขาดข้อมูลเศรษฐกิจและการตลาดที่ทันสมัยรวดเร็ว รวมถึงไม่มีองค์กรที่รวบรวมและสร้างระบบเพื่ออำนวยการต่อรองราคาและควบคุม คุณภาพตามมาตรฐานของตลาด ขาดตัวกลางเชื่อมโยงข้อมูล
             ปัญหาที่สำคัญอีกประการ คือ ปัญหาด้านการบริหารจัดการ เช่น การขาดความรู้ทางวิชาการที่จะใช้ในการบริหารจัดการฟาร์มเพาะเลี้ยง ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนไม่ค่อยต่อเนื่อง เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงขาดความรู้ในการจัดการระบบแบบครบวงจร ขาดความยั่งยืนของอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ดังนั้นจึงต้องมีแนวนโยบายในการจัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น การพัฒนาคุณภาพและเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในระดับพื้นบ้านให้เป็นไปตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง สนับสนุนการวิจัยด้านการเพาะเลี้ยงและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจและเทคนิคการเพาะเลี้ยงให้เหมาะสมต่อคุณภาพสิ่งแวด ล้อมและสุขภาพสัตว์น้ำ พัฒนาพันธุ์ปลาและพันธุ์ไม้น้ำเพื่อการส่งออกพัฒนา ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางตลาดของภูมิภาค อย่างไรก็ตาม การจัดการและแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นหน้าที่ของกรมประมงในฐานะที่เป็นหน่วย งานหลักที่รับผิดชอบด้านการประมงทั้งหมดของประเทศจึงควรมีการกำหนด ยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้เกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคต
 
 
 
 
 
 
แหล่งข้อมูลอ้างอิง :ฐานข้อมูลความรู้ทางทะเล (Marine Knowledge Hub)
                             http://www.mkh.in.th/