ด้วยวัวเป็นสัตว์เศรษฐกิจสำคัญของเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากสภาพอากาศที่แห้งแล้งวัวพื้นบ้านจึงมีเพียงฟางข้าวและหญ้าแห้งประทังชีวิต ทำให้ขาดสารอาหาร น้ำหนักลดลง ส่งผลกระทบด้านราคาจำหน่าย ซึ่งการแก้ปัญหาให้วัวกินอาหารเสริมเพื่อสร้างเนื้อและพลังงาน จึงเป็นแนวทางที่ รศ.ดร.หาญชัย อัมภาผล มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร นำผลิตผลการเกษตรที่มีในชุมชนมาผลิตเป็นอาหารเสริมเพื่อวัวพันธุ์พื้นบ้านมีโภชนาการที่ดี

สำหรับการนำเทคโนโลยีมาบูรณาการกับสรีรวิทยาของวัวโดยเฉพาะสายพันธุ์พื้นบ้าน คือการเสริมอาหารในสูตรอาหารสัตว์ที่เหมาะสม จะทำให้วัวเจริญเติบโตสม่ำเสมอ ได้เนื้อที่มีคุณภาพคล้ายกับการเลี้ยงโคขุนโพนยางคำ อีกทั้งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยการนำผลผลิตการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

วัวสายพันธุ์นี้มีลักษณะพิเศษ คือเลี้ยงง่าย อดทนต่อสภาพอากาศที่แห้งแล้ง แต่ราคาจำหน่ายยังไม่ดีเท่าที่ควร การลงทุนซื้ออาหารสำเร็จรูปใช้เป็นอาหารเสริมที่ราคา 290-300 บาท/30 กก. เฉลี่ย กก.ละ 10 บาท ทำให้เกษตรกรไม่คุ้มค่ากับการลงทุน การคิดค้นสูตรอาหารเสริมเน้นผลผลิตที่เหลือจากการเกษตร หาง่าย มีอยู่ในท้องถิ่นมาผลิต จึงเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรได้เห็นถึงประโยชน์ของวัตถุดิบที่มีในชุมชนและสามารถนำมาผลิตได้เอง ประหยัดต้นทุนได้ถึง กก.ละ 6-7 บาท

“วัวพื้นบ้านต้องได้กินอาหารหยาบ หญ้าสดถือเป็นอาหารที่ดีที่สุด แต่ช่วงฤดูร้อนแล้งหญ้าสดหายาก และมีราคาแพง วัวจะได้กินเพียงฟางข้าว ซึ่งทำให้น้ำหนักลดลง อาหารเสริมจึงมีความจำเป็นที่จะทำให้วัวได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน กว่า 10 ปีที่วิจัยและทดลองนำวัตถุดิบที่มีในชุมชนมาใช้ ซึ่งล้วนเป็นผลพลอยได้จากการเกษตร เช่น กากมัน รำข้าว ใบกระถินสด ใบและหัวมันสำปะหลัง กากถั่วลิสง รำข้าว และปลายข้าว” รศ.ดร.หาญชัย แจง

สำหรับวัตถุดิบที่นำมาใช้ผลิตซึ่งถือเป็นสูตรควบคุมที่ต้องใช้เป็นส่วนผสมใน 100 กก. ประกอบด้วย อาหารเม็ดโคขุนโพนยางคำ 7 กก. ปลายข้าวและแกลบบดอย่างละ 8 กก. รำละเอียด 10 กก. และยูเรีย 2 กก. ส่วนวัตถุดิบหาง่ายในท้องถิ่นได้ 4 สูตร คือใช้ใบและหัวมันสำปะหลัง กากเนื้อในยางพารา กากเนื้อในฝ้าย และกากเนื้อในปาล์มจำนวน 65 กก.

“จากการวิจัยพบว่า ใบสดของมันสำปะหลังมีสารไซยาไนด์ หากใช้ใบสดนำไปเป็นส่วนผสมทันทีจะส่งผลเสีย จึงต้องนำใบสดไปผึ่งให้โดนความร้อนก่อน เพื่อให้สารนี้ลดลง อีกทั้งพบว่าใบมันมีโปรตีนถึงร้อยละ 18 ที่ช่วยสร้างเนื้อให้วัวมีโภชนาการที่ดี ส่วนขั้นตอนการผสมขึ้นอยู่กับการคำนวณน้ำหนักของวัว เพราะแต่ละตัวต้องการปริมาณที่ต่างกัน หลังคัดเลือกวัตถุดิบได้แล้ว จึงนำส่วนผสมมาทำให้เป็นชิ้นเล็ก ก่อนผสมสูตรอาหารตามที่คำนวณไว้ด้วยเครื่องผสม ก่อนนำไปให้วัวกิน” รศ.ดร.หาญชัย บอก

ทว่า หากเกษตรกรต้องการเลี้ยงวัวพื้นบ้านเป็นอาชีพ ต้องคำนึงถึงอาหาร การเลี้ยงให้ถูกสุขลักษณะ ทั้งถ่ายพยาธิ ฉีดวัคซีน ทำความสะอาดคอกเลี้ยง สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้วัวมีสุขภาวะและโภชนาการที่ดี ซึ่งช่วยลดเวลาการเลี้ยงให้น้อยลง และได้ปริมาณเนื้อที่มีคุณภาพ ถือเป็นการยกระดับการเลี้ยงวัวพันธุ์พื้นบ้าน อีกทั้ง เพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้นด้วย

สำหรับเกษตรกรที่สนใจสูตรอาหารเสริมให้วัวพื้นบ้านที่เลี้ยงไว้ สอบถามได้ที่

โทร: 02-4531489 / 02-4532135
คุณเจี๊ยบ: Jeab_Kunlaya@hotmail.com
คุณมิลค์ : Warisaramilk.budd@gmail.com
คุณเฟิร์น: girit.fern@gmail.com